Posts Tagged ‘ สาระน่ารู้ ’

(การบริหาร, Dr.Kriengsak) เข้าตานาย_กลยุทธ์พลิกบทหัวหน้าจอมเผด็จการ (Part 3)

มีทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีกว่าการตัดสินใจ “อย่างนี้ต้องลาออก!!!!” หางานใหม่ดีกว่าหรือไม่ ?

ลูกน้องบางคนที่ใจกล้า อาจเข้าไปชี้แจงเหตุผลและพร้อมโต้เถียงกับหัวหน้าซึ่ง ๆ หน้า บางคนเลือกใช้วิธีนินทาหัวหน้าลับหลังเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจ บางคนอาจตอบโต้หนักด้วยการหาทางแก้แค้น ตลบหลัง หรือหาช่องทางทำลายความน่าเชื่อของหัวหน้า (discredit) ลูกน้องจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะหนีปัญหา โดยหาช่องทางย้ายไปฝ่ายอื่น หรือหางานใหม่ Continue reading

(การบริหาร Dr.Kriengsak)หัวหน้างาน “อคติ” ประเมินผล “ยุติธรรม” ได้ ?? (Part 3)

ในการประเมินผล สิ่งหนึ่งที่สามารถเข้าเกาะกุมจิตใจและมีอิทธิพลโน้มน้าวการตัดสินใจของหัวหน้างานได้นั่นคือ อคติ

ในความเป็นมนุษย์ นักจิตวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่า อคติ เกิดขึ้นได้เสมอ เนื่องจากเรามีความรู้สึกส่วนตัวเกิดขึ้นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เสมอ เช่น ความคาดหวัง ความกลัว ความสนใจ ความชอบ ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้การตัดสินใจและการประเมินสถานการณ์ของเราบิดเบือนได้ เช่น เมื่อเราต้องประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่งลูกน้องที่เรารู้สึกว่า หยิ่งและเห็นแก่ตัว เราย่อมรู้สึกว่าไม่อยากประเมินให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เพราะกลัวว่า เขาจะยิ่งหยิ่งมากกว่าเดิม เป็นต้น

เมื่อ อคติ เกิดขึ้นในใจของหัวหน้างาน เมื่อนั้นเขาจะขาดคุณสมบัติของการเป็นหัวหน้างานที่ดีไปทันที เพราะอคติจะเข้ามาบิดเบือนการใช้อำนาจในฐานะหัวหน้า บิดเบือนความยุติธรรมที่หัวหน้าควรจะมี และสะท้อนการทำหน้าที่หัวหน้าที่ล้มเหลว

ลองพิจารณาเฉพาะอคติในการประเมินผล ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อ

องค์กร…องค์กรจะไม่สามารถรับรู้กำลังคนที่มีประสิทธิภาพแท้จริง

หัวหน้า…จะได้ทำงานกับคนที่ถูกใจแต่อาจไร้ประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องเผชิญหน้ากับลูกน้องที่เปลี่ยนมาเป็นศัตรูเพราะรู้สึกว่าหัวหน้าลำเอียง

และลูกน้องคนที่ได้รับการประเมินสูงเกินความจริงย่อมพึงพอใจ แต่จะไม่รู้ประสิทธิภาพการทำงานที่แท้จริงของตน ส่วนคนที่ได้รับการประเมินที่ต่ำกว่าความจริง ย่อมรู้สึกว่าหัวหน้าลำเอียงและไม่ต้องการทำงานต่อไป

มีคำกล่าวหนึ่งกล่าวไว้สำหรับบุคคลที่เป็นหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชาว่า “ไม่มีสิ่งใดจะทำลายอำนาจของคุณได้เร็วกว่าความลำเอียง”

ความยุติธรรม จึงเป็นคุณลักษณะ ‘สำคัญ’ และ ‘จำเป็น’ ประการหนึ่งของหัวหน้างาน

ทั้งนี้และทั้งนั้น สำหรับคนที่ต้องการเป็น “หัวหน้างานที่ดี” แม้ว่าจะไม่สามารถกำจัดความรู้สึกส่วนตัว ..ชอบบางคน ..ไม่ชอบบางคน ออกไปได้ แต่ต้องตระหนักว่า จะไม่ให้สิ่งเหล่านี้มาทำให้เราเกิดอคติ โดยจำเป็นต้องรู้วิธี ‘เก็บกด ปิดกั้น’ ควบคุมความรู้สึกตรงนี้ไว้เพื่อให้เราสามารถประเมินผลทีมงานได้อย่างยุติธรรม และถูกต้องที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.comkriengsak.comdrdancando.com

(การบริหาร Dr.Kriengsak)หัวหน้างาน “อคติ” ประเมินผล “ยุติธรรม” ได้ ?? (Part 2)

 หัวหน้างานประเมินแบบตอบแทนความดีลูกน้อง

           ประเมินแบบตอบแทนความดี หัวหน้างานจำนวนไม่น้อยใช้ช่วงเวลานี้ในการตอบแทนความดีที่ลูกน้องมีต่อตน โดยไม่ได้ประเมินตามความสามารถในการทำงาน เช่น ลูกน้องมีนิสัยดี มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงานทุกคน ยินดีช่วยเหลือแม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แม้ในงานที่เป็นความรับผิดชอบของตนจะทำผิดพลาดเป็นประจำด้วยความไม่รอบคอบ ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน แต่หัวหน้างานกลับประเมินแบบให้รางวัลความมีน้ำใจ ให้ทำงานในตำแหน่งที่ดีกว่าเดิม ได้เงินดีกว่าเดิม กลายเป็นการประเมินแบบตอบแทนความดี แต่ไม่ได้มาจากการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานการทำงาน

       ประเมินแบบล้างแค้นให้สะใจ ในทางตรงกันข้าม เมื่อหัวหน้างานต้องประเมินผลลูกน้องที่ตนรู้สึก “ไม่ชอบหน้า” อาจด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น เพราะเขาเป็นคนหยิ่ง เห็นแก่ตัว ชอบโต้แย้ง ไม่ฟังคำสั่ง ถือว่าตนเองมีการศึกษาดีกว่า หลายครั้งเรารู้สึกเหมือนถูกพูดจาดูถูกดูแคลน ทำให้ในใจลึก ๆ ไม่อยากร่วมงานกับคน ๆ นี้ เวลาประเมินผลเราย่อมมีแนวโน้มให้คะแนนต่ำ ๆ หรือประเมินให้รู้สึกว่าเขาต้องรับโทษในสิ่งที่ทำกับเรา ทั้ง ๆ ที่ในงานที่ทำเขาอาจเป็นคนที่รับผิดชอบงานดี มีความคิดสร้างสรรค์ แต่เรากลับละเลยประเด็นเหล่านี้ไป

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.comkriengsak.comdrdancando.com

หัวหน้าพาทีม “เสียคน” ผล…องค์กร “เสียหาย” (Part5 END)

เป็นผู้ตามมากกว่าผู้นำ…เกิดอำนาจเบี่ยงเบน

หัวหน้าจำนวนไม่น้อยก้าวขึ้นมาจากการเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ สิ่งหนึ่งที่อาจไม่ได้ติดตัวมาด้วยคือ ความสามารถในการ “นำ” เพราะเคยชินกับการเป็นผู้ตามและรับคำสั่ง ซึ่งหากใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมย่อมเป็นสิ่งดี เช่น การขอความคิดเห็น ขอคำแนะนำและการตัดสินใจจากลูกน้อง แต่หากตนเองไม่ได้เล่นบทบาทของผู้ตัดสินใจและการออกคำสั่งให้ปฏิบัติ ขาดอิทธิพลในการนำ โอนอ่อนตามคำแนะนำตลอดเวลา อาจทำให้ลูกน้องมองว่า หัวหน้าด้อยกว่าทั้งความรู้ ความคิด การตัดสินใจ ส่งผลให้เกิดภาวะเบี่ยงเบนทางอำนาจ แทนที่หัวหน้าจะมีหน้าที่คุมและนำทิศนำทาง ปรากฏว่าอาจมีลูกน้องหรือกลุ่มลูกน้องทำหน้าที่คุมแทน กลายเป็นคนที่ถูกลูกน้องคุม ไม่ใช่คุมลูกน้อง ทำให้เสียระบบการปกครอง ในที่สุดย่อมส่งผลเสียถึงงานในภาพรวมด้วย

ทางที่ดีกว่า หัวหน้าที่อยู่ในภาวะเช่นนี้ คงต้องพิจารณาตนเอง โดยตระหนักว่าหัวหน้าควรทำหน้าที่ “นำ” ทีมงาน ยินดีรับฟังความคิดเห็นของทีมงาน แต่ต้องพยายามไม่คล้อยตามทั้งหมด ควรรู้จักคิดเชิงวิพากษ์ รวมทั้งต้องเป็นผู้นำในการตัดสินใจและการออกคำสั่งเสมอ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้ทีมงานเห็นว่าเป็นพวกเผด็จการ ด้วยการเปิดใจรับฟังและชมเชยในความคิดเห็นหรือขอบคุณในข้อเสนอแนะของทีมงานเสมอ

บุคลิกลักษณะและพฤตินิสัยของหัวหน้า เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องใส่ใจ เพราะหัวหน้างานทุกลำดับชั้นมีส่วนในการกำหนดอนาคตของหน่วยงานว่าจะเจริญ คงสภาพ หรือตกต่ำ และพฤติกรรมของหัวหน้าที่ส่งผลให้ลูกน้องหรือทีมงาน “เสียคน” คืออีกหนึ่งพฤติกรรมที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะทำให้องค์กรเสียหายได้ในที่สุด

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.comkriengsak.comdrdancando.com

หัวหน้าพาทีม “เสียคน” ผล…องค์กร “เสียหาย” (Part4)

เป็นผู้พิทักษ์ลูกน้อง…แต่ไม่แยแสองค์กร

หัวหน้าประเภทนี้จัดอยู่ในพวกรักลูกน้องมาก  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ผิด แต่ผิดตรงที่รักลูกน้องมากจนเกิดความลำเอียง เกิดการเข้าข้างอย่างไม่ยุติธรรม โดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ขององค์กร ยกตัวอย่างเช่น

–  เมื่อลูกน้องทำผิดพลาดจะแก้ตัวให้ ในลักษณะ “ลูกน้องลูบหน้า หัวหน้าปะจมูก” แทนที่จะให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น

–  เมื่อได้รับคำสั่งให้ทำงานเพิ่ม ด้วยความกลัวว่าลูกน้องจะทำงานหนัก มักช่วยอ้างว่าคนนี้มีงานล้นมืออยู่แล้ว

–  เมื่อถึงวาระปรับเงิน จะเสนอปรับเงินให้ทุกครั้งแม้ไม่มีผลงานเลย

–  และหากคนไหนทำงานไม่ดีจะปล่อยไว้ ไม่แก้ไข แต่ไปเลือกใช้คนอื่นแทน

–  แทนที่จะฝึกคนทำงานให้ทำงานเป็น ทำงานเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น กลับส่งเสริมให้ทำงานน้อยลง เฉื่อยชาลง แต่องค์กรต้องรับภาระมากขึ้น

ที่ผ่านมา ในระบบราชการก่อนการปฏิรูป ผู้บังคับบัญชามักไม่กล้าลงโทษข้าราชการเพราะยึดหลัก “ไม่ทุบหม้อข้าวลูกน้อง” เมื่อเห็นว่าใครทำงานไม่ดีก็ลงโทษด้วยการไม่ใช้งานแทนการให้ออกจากงาน ทำให้เกิดภาวะกำลังพลเสื่อม สิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมการทำงานในระบบราชการที่กำลังได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตามคงไม่ได้แก้ไขกันง่าย ๆ เพราะเป็นระบบอุปถัมภ์แบบนี้มานานหลายรุ่นคน นับสิบปีแล้ว เราคงเห็นคนที่ไม่มีประสิทธิภาพนั่งแช่อยู่ในระบบ จนกลายเป็นภาพที่เคยชินและเลียนแบบไปตาม ๆ กัน

การกระทำของหัวหน้าเท่ากับเป็นการทำลายทั้งองค์กร ตัวลูกน้อง และตัวหัวหน้าเองด้วย ในส่วนองค์กรจะเป็นองค์กรที่มีคนมากแต่ประสิทธิภาพต่ำ ส่วนคนทำงานย่อมไม่เรียนรู้ในการพัฒนาตนเอง อาจเป็นคนที่ทำงานไม่เป็น เมื่อเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาและถูกประเมินผลจริงจังอาจถูกลดตำแหน่งหรือแม้กระทั่งเชิญออก หรือเมื่อมีพนักงานใหม่ไฟแรงเข้ามา ทำงานอย่างจริงจัง รวดเร็วและทุ่มเท นั่นย่อมเป็นตัวเปรียบเทียบที่ดีว่าพนักงานเก่า ๆ ที่หัวหน้าเคยปกป้องไว้ แท้จริงแล้วเป็นพนักงานที่ไร้ประสิทธิภาพ

ส่วนตัวหัวหน้า เมื่อผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปพบความจริง ย่อมเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี เพราะเห็นว่าหัวหน้าไม่มีใจให้กับเป้าหมายขององค์กร แต่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตน และปกป้องผลประโยชน์ของลูกน้องมากกว่า แน่นอนว่าผู้บริหารระดับสูงย่อมไม่พึงพอใจและต้องหาวิธีจัดการแน่

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.comkriengsak.comdrdancando.com

หัวหน้าพาทีม “เสียคน” ผล…องค์กร “เสียหาย” (Part1)

องค์กรที่สามารถสกัดกั้นด้านมืดของบุคลากรมิให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อองค์กรได้ คือ องค์กรที่ฉลาด…บทสรุปประการหนึ่งที่ผมได้จากประสบการณ์ทำงาน

ในตอนนี้ ผมจะกล่าวถึงด้านมืดด้านหนึ่งของบุคลากรที่ควรสกัดกั้น นั่นคือ พฤติกรรมหัวหน้าที่เป็นเหตุให้ลูกน้อง “เสียนิสัย” หรือมีความประพฤติที่ไม่ประสงค์ภายในองค์กร

ลูกน้องเสียนิสัยเพราะหัวหน้าเป็นเหตุ สังเกตได้จากคำพูดทำนองนี้

… “วันนี้ไม่ได้งานเลย เพลียทั้งวัน เมื่อวานพี่หัวหน้าชวนไปฉลอง เลยดื่มหนักไปหน่อย ป่านนี้ยังไม่สร่างเลย”

… “เรื่องเท่านี้เอง ไม่เป็นไร บอกพี่หัวหน้าได้ แกรักพวกเราจะตาย รับรองความผิดนี้ไม่ถึงหูบอสส์ใหญ่แน่”

… “ดูสิ ไม่มีใครเห็นด้วยกับความคิดหัวหน้าเลย เชื่อคำแนะนำของเราเถอะ ไม่ต้องเห็นด้วยกับผู้บริหารหรอกในเรื่องนี้” 

… “ไม่ต้องขยันให้มากหรอก แค่ทำตัวให้สนิทสนม ทำดีกับหัวหน้าไว้ สิ้นปีได้ดีแน่นอน”

……..

หากเราเคยได้ยินคำกล่าวประเภทนี้ที่พนักงานพูดกันนั่นแสดงว่า องค์กรของเรามีหัวหน้างานที่มีปัญหาแล้ว แน่นอนว่าย่อมนำไปสู่ความตกต่ำขององค์กร และถ้าองค์กรตกต่ำ ไม่พัฒนา เข้าสู่ยุคเสื่อม ด้วยเหตุหัวหน้างานเป็น “ต้นเหตุ” ทำให้ลูกน้องเสียนิสัย หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ส่งเสริมให้องค์กรพัฒนา ผมคิดว่าหัวหน้าที่มีลักษณะเช่นนี้ องค์กรไม่ควรปล่อยไว้

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.comkriengsak.comdrdancando.com

เลิกเป็นหุ่นยนต์ Mr. Yes เสียที จากบทความของ Dr.Kriengsak

กระตุ้นพนักงาน “รัดเข็มขัดทางความคิด” (Part2)           

การกระตุ้นคนประเภทนี้ หัวหน้าควรแสดงความตั้งใจ ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการวิพากษ์ เสนอแนะแนวทางต่าง ๆ ไม่ใช่นั่งประชุมพอเป็นพิธี รอให้การประชุมจบ ๆ ไปเท่านั้น  และต้องคอยกระตุ้นให้ทีมงานออกแรงคิด โดยชี้แจงต่อพนักงานเหล่านี้ว่า พนักงานที่ขาดความจดจ่อ ไม่ให้เวลา ไม่ให้ความสำคัญ ไม่ตั้งใจลงทุนลงแรงคิดอย่างเต็มที่ การกระทำเช่นนี้นับเป็นการปัดความรับผิดชอบให้กับหัวหน้าและทีมงานคนอื่น ๆ ดังนั้น ควรเห็นคุณค่าของการคิด แสดงออกถึงความพยายามคิดกับงานต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาอย่างดีที่สุด

อีกวิธีหนึ่งอาจให้ทีมงานช่วยคิด โดยที่หัวหน้าตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ เช่น “คุณคิดว่า ข้อเสนอของคุณสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด” และให้ทุกคนใช้ความคิดอย่างเต็มที่ มีโอกาสเสนอความเห็นของตนต่อที่ประชุม รวมทั้งให้จดความคิดที่ดีของเพื่อนมาขบคิด การจดไม่เพียงช่วยเตือนความจำ แต่ยังเป็นกระบวนการที่ฝึกฝนการจับประเด็นและช่วยให้เราขบคิดในเรื่องที่สำคัญ

ในกรณีที่การประชุมครั้งนั้น ๆ มีเวลาจำกัด ควรแนะนำให้ทีมงานกลับไปคิดต่อได้ เช่น ระหว่างเดินทาง และเขียนประเด็นที่คิดเพิ่มส่งมาให้เลขาฯ ของที่ประชุมในวันอื่น ๆ เพื่อรวบรวมเสนอต่อที่ประชุมในวาระต่อไป เป็นต้น

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.comkriengsak.comdrdancando.com

เลิกเป็นหุ่นยนต์ Mr. Yes เสียที จากบทความของ Dr.Kriengsak

กระตุ้นพนักงาน “รัดเข็มขัดทางความคิด” (Part1)

คนจำนวนไม่น้อยเกียจคร้านในการคิด ไม่พยายามออกแรงคิดอย่างเต็มที่ บางคนคิดและพูดเพียงเพื่อปัดเรื่องนี้ให้พ้นตัวไปเท่านั้น เพราะคิดว่าอย่างไรเสียหัวหน้าต้องเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่แล้ว เช่น ในการประชุม บ่อยครั้งที่หัวหน้าต้องเป็นพระเอกฉายเดี่ยว ทำหน้าที่พูดอยู่ฝ่ายเดียว หรือมีทีมงานบางคนแสดงความคิดเห็น ถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่ทีมงานที่เหลือกลับเข้ามา “สูดอากาศ” อย่างเดียว นั่งเฉย ๆ หรือนั่งฟังอย่างตาลอย ด้วยสมองว่างเปล่า บ้างก็รอว่าเมื่อไรการประชุมจะจบลง และไม่ได้ช่วยคิดอะไรเลย

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.comkriengsak.comdrdancando.com

เลิกเป็นหุ่นยนต์ Mr. Yes เสียที จากบทความของ Dr.Kriengsak

สร้างบรรยากาศให้คนกล้าคิด กล้าพูด Part 2

หนังสือชื่อ วาทะของบิล เกตส์ ในหนังสือชุด “วาทะคนแถวหน้า” ที่ผมแปลไว้ มีการเล่าถึงบรรยากาศการประชุมของไมโครซอฟต์ว่า แทบทุกครั้ง เมื่อมีการเสนอความคิดหรือโครงการใหม่ ๆ จะเหมือนเกิดการทะเลาะกัน คล้ายกับกำลังอยู่ในสนามรบทางความคิด เพราะผู้ที่เสนอความคิดจะถูกบิล เกตส์ซักไซร้ ไล่เลียง ปรามาสความคิดที่เสนอนั้น โดยแสดงออกทั้งคำพูด และท่าทางที่รุนแรงและเอาจริงเอาจัง ขณะเดียวกัน ผู้เสนอจะโต้เถียงเพื่อพิสูจน์ว่าความคิดของเขานั้นดีอย่างไร และหากใครสามารถยืนหยัดโต้เถียงได้สำเร็จ บิล เกตส์ และคณะผู้บริหารจึงจะรับโครงการนั้น จากบรรยากาศเช่นนี้เอง ทำให้เจ้าหน้าที่ของไมโครซอฟต์ไม่กลัวที่จะคิดแตกต่าง และสิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทนี้สามารถค้นคิด ผลิตนวัตกรรมต่าง ๆ ออกมาได้เป็นจำนวนมาก

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.comkriengsak.comdrdancando.com

เลิกเป็นหุ่นยนต์ Mr. Yes เสียที (Part 4) จากบทความของ Dr.Kriengsak

แสดงออกถึงการเห็นคุณค่าในความคิดของแต่ละคน

ลูกน้องหลายคนกลัวความผิดพลาดจะตกแก่ตน กลัวล้มเหลว กลัวเสียหน้า บางคนคิดว่าตนเองมีความสามารถไม่มากพอที่จะคิดได้ดีกว่าหัวหน้า หรือคนที่มีประสบการณ์มากกว่า จึงไม่กล้าที่จะเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างจากหัวหน้าหรือคนหมู่มาก เพราะเกรงว่าเมื่อเสนออะไรออกไปคนอื่นจะรู้สึกขบขัน หรือมองว่ามีความคิดตื้น ๆ

ในความเป็นจริงแล้ว ผมคิดว่า คนทุกคนมีเสรีภาพและศักยภาพในการคิด ดังนั้น หัวหน้างานจึงมีภารกิจสำคัญในการเป็นตัวหลักคอยกระตุ้นให้คนกล้าคิดและตั้งใจใช้ความคิดอย่างเต็มที่ แม้ว่าบางครั้งความคิดนั้นจะแตกต่างหรือขัดแย้งกับหัวหน้าหรือคนส่วนใหญ่ก็ตาม และควรรับฟังด้วยดีเมื่อพนักงานได้คิดใคร่ครวญในข้อเสนอมาอย่างดี โดยนำข้อเสนอเหล่านั้นไปคิดทบทวนเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุดอีกครั้ง

ในกรณีที่ความคิดหรือข้อเสนอของพนักงานยังไม่ดีเพียงพอ แต่หัวหน้าสังเกตเห็นว่า พนักงานคนนั้นได้ใช้ความพยายามอย่างสุดกำลังความสามารถในการกลั่นกรองความคิดนั้น ๆ แล้ว หัวหน้าควรชมเชยในความพยายามของเขา จากนั้นค่อยชี้แจงถึงข้อบกพร่องด้วยเหตุด้วยผลให้พนักงานได้รับรู้ถึงจุดอ่อนเพื่อปรับปรุงข้อเสนอ และให้กำลังใจเขาในการคิดข้อเสนออื่น ๆ ต่อไป

หัวหน้าควรสร้างกลไกบางอย่างที่ทำให้พนักงานได้รับความสำเร็จทุกครั้งจากการมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ให้รางวัลคนที่พยายามคิด เช่น มอบรางวัลให้กับพนักงานที่เสนอความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาระบบการทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดให้ดีขึ้น และแนวคิดนั้นสามารถนำไปใช้ได้จริง สิ่งตอบแทนที่หัวหน้ามอบให้นั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของเงินทองหรือสิ่งของเท่านั้น แต่อาจอยู่ในรูปของการให้เกียรติ ยกย่อง และประกาศผลงานให้คนอื่นๆ ได้รับรู้และร่วมแสดงความยินดี

 

องค์กรจะเติบโตและพัฒนายาก หากคนรอบข้างหัวหน้างานมีแต่คนอย่าง Mr. Yes เพราะขาด“พลังทวีคูณ” ที่กลั่นและหลอมรวมจากมันสมองของพนักงานทุกคน อันเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนองค์กรภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของยุคนี้ ดังนั้น หัวหน้างานควรพยายามเต็มที่ในการกระตุ้นพนักงานทุกคนให้ปลดปล่อยศักยภาพทางความคิด ความรู้ ความสามารถ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อทั้งตัวพนักงาน ต่อทีมงานและต่อทั้งองค์กร

Dr Kriengsak Chareonwongsak
Senior Fellow, Harvard Kennedy School , Harvard University
kriengsak@kriengsak.comkriengsak.comdrdancando.com